ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

ภาพจำลองใบหน้าของมนุษย์เดนิโซวาน ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 2019 จากข้อมูลดีเอ็นเอในกระดูกนิ้วมือ

ภาพจำลองใบหน้าของมนุษย์เดนิโซวาน ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 2019 จากข้อมูลดีเอ็นเอในกระดูกนิ้วมือ

มีการค้นพบฟอสซิลฟันกรามของมนุษย์โบราณซี่หนึ่ง ที่ถ้ำหินปูนในเทือกเขาอันนัม (Annamite Mountains) ส่วนที่อยู่ในทางตอนกลางของลาว โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าฟันกรามนี้เป็นของเด็กหญิงเชื้อสายเดนิโซวาน (Denisovan) มนุษย์โบราณที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อราว 40,000 ปีก่อน

ทีมนักบรรพมานุษยวิทยานานาชาติ ทั้งจากลาว สหรัฐฯ และหลายประเทศในยุโรป ร่วมกันเสนอผลการค้นพบล่าสุดในวารสาร Nature Communications โดยระบุว่าฟอสซิลฟันดังกล่าวมีอายุเก่าแก่ระหว่าง 131,000 - 164,000 ปี และน่าจะเป็นของเด็กหญิงอายุเพียง 3.5 - 8.5 ขวบ เนื่องจากเคลือบฟันเพิ่งจะพัฒนาตัวมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์ได้ไม่นานก่อนเสียชีวิต และไม่พบร่องรอยการสึกหรอแม้แต่น้อย

ฟอสซิลฟันกรามซึ่งขุดพบที่ "ถ้ำงูเห่า 2" ในเขตเทือกเขาอันนัมของลาว

หากได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า ฟอสซิลฟันดังกล่าวเป็นของมนุษย์เดนิโซวานจริง นี่จะเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่ยืนยันการมีอยู่ของมนุษย์โบราณสายพันธุ์ลึกลับในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากเมื่อหลายสิบปีก่อนมีการค้นพบฟอสซิลกระดูกส่วนต่าง ๆ ของเดนิโซวาน ที่เทือกเขาอัลไตในไซบีเรียและบริเวณที่ราบสูงทิเบตเท่านั้น

รายงานวิจัยระบุว่าพบฟอสซิลฟันดังกล่าวใน "ถ้ำงูเห่า 2" ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปทางตอนเหนือราว 150 กิโลเมตร โดยเป็นฟันซี่ใหญ่ที่มีลักษณะเหมือนฟันกรามจากขากรรไกรล่างของเดนิโซวาน ซึ่งเคยพบในถ้ำบริเวณที่ราบสูงทิเบตเมื่อช่วงทศวรรษ 1980 ทั้งยังมีความแตกต่างอื่น ๆ ที่ผิดแผกไปจากฟันของมนุษย์ยุคใหม่หรือโฮโมเซเปียนส์ รวมทั้งดูไม่เหมือนกับฟันของโฮโมอีเร็กตัสอีกด้วย

รูปฟอสซิลฟัน 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าฟอสซิลฟันนี้เป็นของมนุษย์เดนิโซวาน เนื่องจากยังไม่ได้มีการสกัดดีเอ็นเอจากเนื้อฟันมาวิเคราะห์ ผู้เชี่ยวชาญบางรายมองว่า ฟอสซิลฟันดังกล่าวอาจเป็นของมนุษย์โบราณสายพันธุ์ใกล้เคียงกัน อย่างเช่นมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล หรืออาจเป็นของลูกผสมข้ามสายพันธุ์ก็เป็นได้

ค้นพบฟันกรามเด็กเก่าแก่ 1.3 แสนปี ในลาว ร่องรอยแรกของเดนิโซวานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทีมผู้วิจัยเกรงว่าสารพันธุกรรมที่อยู่ในเนื้อฟัน ซึ่งสัมผัสกับดินและสภาพอากาศร้อนชื้นมานานกว่าแสนปี อาจได้รับความเสียหายหนักจนสูญสิ้นไปหมดแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขามีโครงการที่จะลองตรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอของฟอสซิลฟันนี้ดูในอนาคต ซึ่งผลที่ได้อาจช่วยยืนยันทฤษฎีที่ว่า เผ่าพันธุ์มนุษย์เดนิโซวานมีการแพร่กระจายประชากรในวงกว้างลงมาทางซีกโลกใต้ จนได้ผสมพันธุ์กับมนุษย์ยุคใหม่และทำให้ชาวเอเชียบางส่วนเช่นชนพื้นเมืองในฟิลิปปินส์และออสเตรเลีย มียีนของบรรพบุรุษที่เป็นเดนิโซวานอยู่จนถึงทุกวันนี้

รายการบล็อกของฉัน